“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

ปลาแมคเคอเรล แหล่งกรดไขมันที่ดีที่ถูกมองข้าม

ปลาแมคเคอเรล แหล่งกรดไขมันที่ดีที่ถูกมองข้าม

       เมื่อพูดถึงปลาแมคเคอเรล ในประเทศไทยจะนึกถึงปลากระป๋องเป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นสินค้ายอดฮิตในช่วงสิ้นเดือน กำลังประหยัดงบประมาณรายจ่ายค่าอาหารนั่นเอง แต่ปลาแมคเคอเรลนั้น เป็นปลาที่มีปริมาณไขมันสูงเช่นเดียวกับปลาแซลมอนและปลาทู จะเห็นได้ว่าใครที่เคยลองชิมรสชาติจะคล้ายกับปลาทูเหลือเกิน และปลาแมคเคอเรลนี้เองก็ยังได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในตระกูลสายพันธุ์ปลาทะเลที่มีกรดไขมันโอเมก้า-3 สูงมาก ซึ่งมีสารสำคัญที่อยู่ในกลุ่ม Omega-3 แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ พวกกรดไขมัน EPA (Eicosapantaenoic acid) และกรดไขมัน DHA (Docosahexanoic acid) ร่างกายไม่สามารถผลิตสาร 2 ตัวนี้ได้เอง จำเป็นต้องได้รับจากการรับประทานอาหารเพิ่มเติม 

       บทบาทหน้าที่ของ EPA คือเป็นองค์ประกอบสำคัญของสารต้านการอักเสบหรือสารพลอสตาแกลนดิน มีส่วนช่วยในการลดการอักเสบในหลอดเลือดและบริเวณข้อต่อ มีคุณสมบัติลดการจับตัวของเกล็ดเลือด สร้างสารที่ทำให้เส้นเลือดขยายตัวได้ดี จึงช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น          ดีเอชเอ  เป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์ มีผลต่อการทำงานของเนื้อเยื่ออื่น ๆ เช่น เซลล์ประสาท สมอง และจอตา มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตและสร้างระบบสมองของทารก ทั้งกรดไขมัน EPA และ DHA นั้น เป็นสารอาหารสำคัญที่ดีต่อสุขภาพหัวใจและระบบไหลเวียนโลหิต ช่วยควบคุมระดับไขมันในเลือด คอเลสเตอรอลในเลือดให้ลดลง และมีส่วนช่วยทำให้ความดันโลหิตลดลงได้  กรดไขมัน 2 ชนิดนี้ พบได้ในปลาทะเล เช่น ปลาแมคเคอเรล ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาสวาย ปลาดุก ปลาช่อน ปลาตะเพียน และปลากราย เป็นต้น และจากการศึกษาพบว่า การรับประทานอีพีเอและดีเอชเอ วันละ 250 – 500 มิลลิกรัม หรือ รับประทานปลาที่อุดมไปด้วยโอเมก้า -3  อย่างน้อยสัปดาห์ละ  2 ครั้ง จะช่วยลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจได้ถึงร้อยละ 36 เลยทีเดียว

       การเลือกรับประทานปลาแมคเคอเรล หากหาซื้อแบบสดได้ ซึ่งอาจจะยากหน่อยในท้องตลาด สามารถนำมาประกอบอาหารเช่นเดียวกับตระกูลปลาทูได้เลย เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกันมาก แนะนำให้ประกอบอาหารโดยวิธีต้ม นึ่ง หลีกเลี่ยงการทอด หากอยากรับประทานปลาแมคเคอเรลกระป๋อง ควรเลือกรับประทานครั้งละน้อยๆ ไม่บ่อยครั้ง เลือกเนื้อปลาชนิดที่มีน้ำมันที่ดี เช่น น้ำมันมะกอก เป็นต้น และหากชิ้นปลาอยู่ในซอสมะเขือเทศให้พิจารณาฉลากโภชนาการและวัตถุดิบส่วนประกอบร่วมด้วย ควรคำนึงถึงเกลือโซเดียมและสารปรุงแต่งต่างๆ ด้วย

 

เอกสารอ้างอิง

The American Heart Association (2017) Fish and Omega-3 Fatty Acids, Retrieved from http://www.heart.org/HEARTORG/HealthyLiving/HealthyEating/HealthyDietGoals/Fish-and-Omega-3-Fatty-Acids_UCM_303248_Article.jsp#.WiCkg9KWbIU

Mackerel Fish: The Cholesterol-Lowering, Bone-Strengthening Omega-3 Powerhouse Retrieved From https://draxe.com/mackerel-fish/

 16332
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์