ร่างกายคนเราเปลี่ยนแปลงไปตามวันเวลา ผู้สูงวัยที่อายุ 65 ปีขึ้นไปอาจจะพบว่า สรีระร่างกายเกิดเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการรับสัมผัสเช่นการมองเห็น เสียง กลิ่นและรส มวลกล้ามเนื้อที่ลดลงตามธรรมชาติก็ทำให้ความแข็งแรงของร่างกายลดลง รวมถึงปัญหาสุขภาพช่องปากอย่างการเคี้ยวกลืน การเปลี่ยนแปลงของร่างกายดังกล่าวส่งผลต่อการดำเนินชีวิตและทำให้ร่างกายต้องการพลังงานและสารอาหารที่แตกต่างจากวัยอื่นๆ
ผู้สูงอายุมักเผชิญปัญหาทางช่องปาก ปัญหาฟันและเหงือกรวมถึงปริมาณน้ำลายที่หลั่งน้อยลงทำให้ผู้สูงวัยมีความสามารถในการเคี้ยวกลืนอาหารที่ยากลำบากขึ้น และเมื่อรวมกับปัญหาด้านการรับสัมผัส เช่นภาพ กลิ่นและรสที่พบในผู้สูงวัยทำให้ผู้สูงวัยมีความอยากอาหารน้อยลง จึงส่งผลให้ผู้สูงวัยมีความเสี่ยงต่อภาวะขาดโภชนาการมากขึ้น แนะนำอาหารที่มีสีสัน อาหารที่ชอบอยู่แล้ว และมีรสชาติอาหารจัดขึ้นกว่าปกติเล็กน้อย เพื่อทำให้น่ารับประทานและถูกใจ ผู้สูงอายุบางคนมักจะไม่ค่อยมีความรู้สึกกระหายน้ำ อาจทำให้ดื่มน้ำน้อยลงและอาจจะเกิดภาวะร่างกายขาดน้ำโดยไม่รู้ตัว จึงควรดื่มน้ำอย่างเพียงพอให้เป็นนิสัย หมั่นดื่มน้ำบ่อยๆ หรือตั้งเวลาเตือนไว้สำหรับการดื่มน้ำโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำและช่วยเรื่องระบบขับถ่าย เนื่องจากระบบย่อยอาหาร นอกจากนี้การเคลื่อนไหว การออกกำลังกายที่น้อยลง อาจส่งผลให้เกิดอาการท้องผูก แน่นท้องได้ง่าย แนะนำขยับ ออกกำลังบ่อยๆ ควรรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง ผัก ผลไม้และดื่มน้ำให้เพียงพอ
ในส่วนของการเปลี่ยนแปลงทางองค์ประกอบของร่างกาย ผู้สูงอายุโดยทั่วไปมีความต้องการพลังงานที่ต่ำลง เนื่องจากการมีมวลกล้ามเนื้อน้อยลง มีกิจกรรมทางกายน้อยลง ทำให้มีการเผาผลาญพลังงานที่น้อยลง แต่สำหรับผู้สูงวัยที่มีมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ควรรับประทานอาหารให้มากและหลากหลายขึ้น เนื่องจากการศึกษาวิเคราะห์ผลวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Journal Clinical Nutrition ปี 2014 พบว่า สำหรับผู้สูงวัยที่อายุ 65 ปีขึ้นไปค่าดัชนีมวลกายที่เหมาะสมนั้นแตกต่างจากวัยอื่นๆ ค่าดัชนีมวลกายที่ดีต่อสุขภาพที่สุดคือช่วงระหว่าง 24 - 31 กก./ม.2 กล่าวคือ ผู้สูงวัยมีเกณฑ์ภาวะน้ำหนักเกินที่สูงกว่าคนวัยอื่น เนื่องจากผู้สูงวัยมีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะขาดโภชนาการมากขึ้น มวลกล้ามเนื้อที่ลดลงตามธรรมชาติของผู้สูงวัยจำเป็นต้องได้รับโปรตีนอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันการสลายของกล้ามเนื้อและช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ทำงานได้ดีดังเดิม แหล่งโปรตีนที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงวัยได้แก่เนื้อสัตว์ที่ย่อยง่ายอย่างเนื้อปลา ไข่ นม ถั่วเหลือง รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเต้าหู้และโยเกิร์ต
ปัจจัยหลายๆอย่างทำให้ผู้สูงวัยมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพที่มากขึ้น เช่นปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ปัญหาสุขภาพกระดูก และปัญหาด้านการมองเห็น แต่ปัญหาดังกล่าวก็สามารถป้องกันและลดความรุนแรงได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่นการบริโภคอาหารที่มีปริมาณวิตามินเอ ซี และอีในปริมาณที่เพียงพอเพื่อป้องการปัญหาด้านการมองเห็น บริโภคแคลเซียมและวิตามินดีอย่างเพียงพอเพื่อป้องกันปัญหากระดูก ดังนั้นการดูแลรักษาสุขภาพในผู้สูงวัย นอกจากตัวผู้สูงวัยเองแล้ว ครอบครัวหรือคนดูแลก็มีส่วนช่วยสำคัญ เนื่องจากสภาวะร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปอาจทำให้ผู้สูงวัยมีข้อจำกัดในการจัดเตรียมอาหาร ผู้ดูแลจึงควรใส่ใจ ให้ความช่วยเหลือ การรับประทานอาหารร่วมกันก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้ผู้สูงวัยมีความอยากอาหารมากขึ้น หากครอบครัวหรือผู้ดูแลช่วยให้กำลังใจและเลือกเมนูอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายก็จะช่วยให้ผู้สูงวัยได้รับพลังงานและสารอาหารอย่างเพียงพอเหมาะสมตามช่วงวัยได้
เอกสารอ้างอิง
Jane E Winter, Robert J MacInnis, Naiyana Wattanapenpaiboon, Caryl A Nowson; BMI and all-cause mortality in older adults: a meta-analysis, The American Journal of Clinical Nutrition, Volume 99, Issue 4, 1 April 2014, Pages 875–890.
WHO, World Health Organization, “Nutrition for Older Persons.” www.who.int/nutrition/topics/ageing/en/index1.html.