ที่มาของสูตรนี้ เริ่มต้นจากวัฒนธรรมอาหารในกลุ่ม 15 ประเทศแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แรกเริ่มเพื่อต้องการสนับสนุนการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพโดยทั่วไปและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น และในภายหลังพบว่าสามารถใช้เป็นอาหารเพื่อการลดน้ำหนักได้และสุขภาพก็ดีขึ้นไปด้วย เนื่องจากข้อจำกัดของตัวเลือกชนิดอาหารที่ให้พลังงานและคาร์โบไฮเดรตปริมาณมาก จุดเด่นของสูตรอาหารนี้ คือ มีสัดส่วนของไขมันสูงแต่เป็นไขมันชนิดที่ดี การบริโภคน้ำมันมะกอกในทุกมื้ออาหาร ซึ่งอาจอยู่ในรูปน้ำมันปรุงประกอบอาหารหรือน้ำสลัดก็ได้ และมีสัดส่วนคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนอยู่ในระดับปานกลาง นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการออกกำลังกายทุกวันร่วมด้วย
วัตถุประสงค์หลักของ Mediterranean Diet เพื่อใช้แนวทางอาหารเพื่อสุขภาพในการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและโรคเรื้อรังต่างๆจะไม่ใช่การลดน้ำหนัก แต่ผลพลอยได้ที่ตามมาคือการลดน้ำหนักไปโดยไม่รู้ตัวนั่นเอง จึงมีการศึกษาจำนวนมากให้ความสนใจ The Lyon Diet Heart Study ทำวิจัยในอาสาสมัครที่เป็นโรคหัวใจ จำนวน 605 คน เปรียบเทียบการรับประทานอาหารแบบ Mediterranean Diet และอาหารไขมันต่ำ ติดตามผลในระยะเวลา 5 ปี พบว่าสามารถเห็นผลดีของอาหารแบบ Mediterranean ใน 46 เดือน ที่ลดอัตราการตายจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Myocardial Infarction)ได้ถึงร้อยละ 70 รวมถึงอาการแทรกซ้อนต่างๆก็ลดลง สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นผลมาจากปริมาณของกรดไขมัน Alpha-Linoleic Acid และยังพบประสิทธิภาพต่อการลดน้ำหนักได้ดีกว่ากลุ่มควบคุมด้วย หลังจากนั้นการศึกษาของ Esposito งานวิจัยในอาสาสมัครผู้ใหญ่ 90 คน ศึกษาถึงการรับประทานอาหารแบบ Mediterranean เป็นระยะเวลา 2 ปี พบว่าอาสาสมัครกลุ่ม Mediterranean มีน้ำหนักลดลงมากกว่ากลุ่มทดลองมากถึง 4 กิโลกรัมอย่างมีนัยสำคัญ และพบว่าอัตราการเกิดกลุ่มโรคเมตาบอลิกและโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลงไปด้วย อย่างไรก็ตาม ในปี 2006 Estruch ทำการศึกษาเพื่อประเมินประสิทธิภาพของ Mediterranean Diet กับ Low Fat Diet ในระยะสั้น 3 เดือน ในอาสาสมัคร 772 คน ไม่พบความแตกต่างระหว่างน้ำหนักตัวที่ลดลงของทั้งสองกลุ่ม แต่พบว่าอาหาร Mediterranean ทำให้ค่าความดันโลหิต ระดับน้ำตาล และระดับไขมันในเลือดดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่ม Low Fat Diet ทำให้ในปัจจุบัน Mediterranean Diet ได้รับการยอมรับเป็นแนวทางอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
-de Lorgeril M, Salen P, Martin JL, Monjaud I, Delaye J, Mamelle N. Mediterranean diet, traditional risk factors, and the rate of cardiovascular complications after myocardial infarction: final report of the Lyon Diet Heart Study. Circulation. 1999;99(6):779-85.
-de Lorgeril M, Renaud S, Mamelle N, Salen P, Martin JL, Monjaud I, et al. Mediterranean alpha-linolenic acid-rich diet in secondary prevention of coronary heart disease. Lancet (London, England). 1994;343(8911):1454-9.
-Esposito K, Marfella R, Ciotola M, Di Palo C, Giugliano F, Giugliano G, et al. Effect of a mediterranean-style diet on endothelial dysfunction and markers of vascular inflammation in the metabolic syndrome: a randomized trial. Jama. 2004;292(12):1440-6.
-Estruch R, Martinez-Gonzalez MA, Corella D, Salas-Salvado J, Ruiz-Gutierrez V, Covas MI, et al. Effects of a Mediterranean-style diet on cardiovascular risk factors: a randomized trial. Ann Intern Med. 2006;145(1):1-11.