ในการดำเนินชีวิตประจำวันที่มีปัญหามากมายเข้ามาให้แก้ไขอยู่ตลอดคงหลีกเลี่ยงความรู้สึกเครียดไม่ได้ ซึ่งแต่ละคนก็มีวิธีการจัดการกับความเครียดที่แตกต่างกันออกไป บางคนอาจจะเลือกการช็อปปิ้ง บางคนอาจจะเลือกการออกกำลังกาย แต่อีกหลายคนเลือกให้การรับประทานอาหารเป็นวิธีระบายความเครียด
ร่างกายคนเราทำงานตอบสนองตามความต้องการทั้งของร่างกายและจิตใจ การตอบสนองต่อความเครียดก็เช่นกัน ในขณะที่ร่างกายอยู่ในภาวะเคร่งเครียดจะมีการหลั่งฮอร์โมนกลูโคคอร์ติซอล (Glucocortisol) เพื่อต่อสู้กับความเครียด ฮอร์โมนชนิดนี้จะกระตุ้นให้ร่างกายรับประทานอาหารมากขึ้น พร้อมกับหลั่งฮอร์โมนอินซูลินที่ควบคุมน้ำตาลในร่างกาย (Insulin) จึงทำให้คนที่รู้สึกเครียดมีความรู้สึกอยากรับประทานอาหารที่รสชาติหวานมันและรับประทานผักน้อยลง การศึกษา Kandiah และคณะ ได้ยืนยันทฤษฎีดังกล่าว เมื่อพบผลการศึกษาว่าผู้หญิงที่เข้าร่วมการศึกษารายงานว่าความเครียดของพวกเขาส่งผลต่อความรู้สึกอยากอาหารและทำให้ความตั้งใจที่จะรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพลดลง และนอกจากฮอร์โมนที่หลั่งมาเพื่อตอบสนองต่อความเครียดจะกระตุ้นให้ร่างกายอยากรับประทานอาหารที่หวานมันและพลังงานสูงแล้ว ฮอร์โมนดังกล่าวยังกระตุ้นให้เกิดการสะสมไขมันบริเวณช่องท้องเพิ่มมากขึ้นด้วย การนำพลังงานส่วนเกินนี้ไปเก็บสะสมในรูปของไขมันบริเวณช่องท้องมีความรุนแรงมากกว่าการสะสมไขมันบริเวณอื่น เนื่องจากเป็นการสะสมไขมันบริเวณที่ติดต่อกับอวัยวะภายในหลายอวัยวะซึ่งอาจทำให้อวัยวะเหล่านั้นทำงานผิดปกติได้ การเลือกใช้วิธีรับประทานอาหารเป็นวิธีลดความเครียดหากทำต่อเนื่องเป็นประจำก็จะกลายเป็นพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ เป็นตัวการสำคัญที่นำพาไปสู่ภาวะอ้วน และสามารถพัฒนากลายเป็นพฤติกรรมการรับประทานอาหารแบบที่ควบคุมตัวเองไม่ได้เช่นอาการกินไม่หยุด ( Binge Eating) หรืออาการบูลิเมีย (Bulimia) ซึ่งเป็นอาการทางจิตที่มีความซับซ้อนในการรักษามากยิ่งขึ้น
ดังนั้นเมื่อรู้สึกหิวขึ้นมา ให้ลองพิจารณาว่าความหิวที่รู้สึกนี้เป็นความรู้สึกหิวที่เกิดจากความต้องการของร่างกายจริงๆหรือเป็นความรู้สึกหิวที่เกิดจากความเครียด หากรู้ตัวว่าร่างกายกำลังหิวด้วยความรู้สึกเครียด เราก็สามารถตอบสนองต่อความรู้สึกเครียดด้วยวิธีการคลายเครียดอื่นๆได้ เช่นการออกกำลังกาย การชมภาพยนตร์ ทำกิจกรรมสนุกๆที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย และให้ตระหนักถึงความต้องการจริงของร่างกาย ระวังการรับประทานอาหารที่พลังงานสูงหรือมีปริมาณน้ำตาลสูง เพราะการรับประทานอาหารเกินความต้องการของร่างกายขณะเครียดเป็นสาเหตุของการเกิดโรคอ้วนลงพุงและเป็นต้นเหตุต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหลายโรคตามมา
เอกสารอ้างอิง
Kandiah, J., Yake, M., Jones, J., & Meyer, M. (2006). Stress influences appetite and comfort food preferencs in college women. Nutrition Research, 26, 118-123.
Mary F. Dallman, Norman C. Pecoraro and Susanne E. la Fleur. (2004). Chronic stress and comfort foods: Self-medication and abdominal obesity. Brain, Behavior, and Immunity 19 (2005) 275–280.
Tasmiah Masih, James A. Dimmock, Elissa S. Epel and Kym J. Guelfi . (2017). Stress-induced eating and the relaxation response as a potential antidote: A review and hypothesis. Appetite 118 (2017) 136-143.