ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในปัจจุบัน คือพฤติกรรมการเลือกรับประทานอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ และการออกกำลังกายที่ไม่เพียงพอ ส่งผลต่อการเกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ซึ่งเป็น ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง ซึงเป็นสาเหตุหลักของโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะไขมันในเลือดสูง เป็นภาวะที่ระดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูงกว่าระดับปกติ คือระดับไขมันคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL Cholesterol) มากกว่า 100 mg/dl และ/หรือ ระดับ Total Cholesterol มากกว่า 200 mg/dl กลุ่มคนที่มีคอเลสเตอรอลสูงจะมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าในคนปกติทั่วไป การมีระดับไขมันในเลือดสูงจะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว โดยไขมันที่สะสมอยู่จะทำให้เกิดการอักเสบภายในหลอดเลือด และนำไปสู่ภาวะหลอดเลือดตีบ แข็ง อุดตัน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหลอดเลือดหัวใจขาดเลือด (Ischemic heart disease) และโรคหลอดเลือดในสมองขาดเลือด (Stroke) ผลที่ตามมาในระยะต่อไปตือ อาจเกิดภาวะอัมพาตเนื่องจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ หรืออาจถึงอันตรายแก่ชีวิต
ดังนั้น การลดระดับของไขมันในเลือดนั้นทำได้หลายวิธี ได้แก่ วิธีแรกคือการใช้ยาช่วยลดการดูดซึมไขมันในเลือด นิยมใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีระดับไขมันสูงมาก ควบคู่ไปกับปรับเปลี่ยนพฤติกรรม วิธีที่สองคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงการออกกำลังกาย พฤติกรรมการบริโภคอาหาร ซึ่งวิธีนี้จะมีผลลัพธ์ที่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันสูงเล็กน้อยถึงปานกลาง และไม่ต้องการใช้ยาช่วยอย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมถือเป็นวิธีที่ต้นทุนต่ำ และทำได้ง่ายกว่า สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับทั้งประชากรสุขภาพดีและผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง จากรายงานขององค์กร World Heart Foundation แนะนำว่า การออกกำลังกาย 30 นาทีต่อวัน การบริโภคอาหารที่มีไขมันและคอเลสตอรอลต่ำ ปราศจากไขมันอิ่มตัว และเพิ่มการรับประทานใยอาหาร มากกว่า 30 กรัมต่อวัน จะสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดต่อการเกิดไขมันในเลือดสูงได้ ทั้งนี้เกิดจากการลดระดับปริมาณไขมันที่บริโภค และเพิ่มใยอาหารซึ่งมีส่วนช่วยในการดักจับและขัดขวาง ชะลอการดูดซึมของไขมันในเลือด
ในปัจจุบัน ได้มีการทำวิจัยและทดลองการใช้สารสกัดจากพืชธรรมชาติหลายชนิดที่สามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้มาใช้กับผู้ป่วยโรคไขมันในเลือดมากขึ้น เนื่องมาจากเป็นสารที่หาได้จากธรรมชาติและมีราคาถูกกว่าสารเคมี/ยาที่ต้องสังเคราะห์ขึ้นมา สารสกัดจากธรรมชาติที่นิยมตัวหนึ่งในวงการแพทย์ ได้แก่ Plant sterol และ Plant Stanol คือสารสกัดที่มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกับคอเลสเตอรอลในร่างกาย มีกลไกช่วยลดอัตราการดูดซึมคอเลสเตอรอลเข้าสู่ร่างกาย เนื่องจากมีโครงสร้างคล้ายกับคอเลสเตอรอลสามารถจะสามารถเข้าแย่งจับรวมตัวกับไมเซลล์ (Micelle) ในลำไส้เล็กและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดแทนไขมันคอเลสเตอรอลตัวจริงได้ ทำให้คอเลสเตอรอลตัวจริงถูกดูดซึมได้น้อยลง ส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดลดลง นอกจากนี้ ยังมีรายงานวิจัยในหลอดทดลองว่า Plant Stanol สนับสนุนการทำงานของเซลล์ที่ผนังลำไส้ เพิ่มอัตราการขจัดคอเลสเตอรอลออกจากร่างกาย กลุ่มงานวิจัยในหลายประเทศให้การรับรองการกลไกทำงานของ Plant Stanol เป็นสารช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดที่ปลอดภัย รวมถึงองค์กร World Heart Foundation ได้กำหนดปริมาณแนะนำไว้ที่ 2 กรัมต่อวัน เพื่อลดระดับคอเลสเตอรอล
ทั้งนี้ Plant Stanol จะมีเพียงปริมาณน้อยมากในอาหารธรรมชาติปกติ เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด ผลไม้ ธัญพืชต่างๆ อุตสาหกรรมอาหารมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยคิดค้นผลิตภัณฑ์เพื่อลดคอเลสเตอรอลที่เติมสารสกัด Plant Stanol ลงไป ซึ่งพบว่าในหลายประเทศ มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของ Plant Stanol เช่น โยเกิรต์ชนิดตัก ชนิดดื่ม กาแฟผงสำเร็จรูป เครื่องดื่มธัญพืชสำเร็จรูป เนย เนยเทียม มาร์การีน เป็นต้น และในปัจจุบันสามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาดแล้ว
เอกสารอ้างอิง
Law, M. (2000). Plant sterol and stanol margarines and health. BMJ: British Medical Journal, 320(7238), 861.
Plat, J., & Mensink, R. P. (2005). Plant stanol and sterol esters in the control of blood cholesterol levels: mechanism and safety aspects. American Journal of Cardiology, 96(1), 15-22.