เมื่อพูดถึงอาหารประเภทไข่ จะให้คำจำกัดความเดียวกันว่าเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของโปรตีน ไขมันและสารอาหารอื่นๆที่จำเป็นต่อร่างกาย ไข่ 1 ฟองให้พลังงานโดยเฉลี่ย 75 กิโลแคลอรี่ โปรตีน 7 กรัม ไขมัน 5 กรัม มีคอเลสเตอรอลเฉลี่ย 200 มิลลิกรัม อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความข้องใจในปริมาณคอเลสเตอรอลที่สูง จึงทำการศึกษาวิจัยเป็นจำนวนมากและพบว่าปริมาณคอเลสเตอรอลในอาหารเป็นเพียงปัจจัยหนึ่ง ที่ส่งผลความสัมพันธ์ของการมีไขมันในเลือดเพิ่มสูงขึ้นและการเกิดโรคหัวใจ ปัจจัยหลักที่ส่งผลได้ชัดเจนกว่าคือการรับประทานอาหารพลังงานสูง มีไขมันอิ่มตัวและไขมันประเภททรานส์สูง โดยปราศจากการรับประทานอาหารที่หลากหลาย หรือไม่ได้รับผัก ผลไม้ ธัญพืชต่างๆ อย่างเหมาะสม
การศึกษาผ่านมาจำนวนมาก พบกว่า ผลการศึกษาในผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคหัวใจนั้น พบว่าการกินไข่แดงเป็นประจำมีผลต่อระดับคอเลสเตอรอลในเลือดค่อนข้างน้อย สามารถกินไข่ได้ทุกวันไม่เกินวันละ 1 ฟอง และไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดของคนกลุ่มนี้แต่อย่างใด ส่วนผลการศึกษากลุ่มเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ ควรกินไข่ไม่เกิน 3 ฟองต่อสัปดาห์ และติดตามผลตรวจค่าไขมันในเลือดอย่างต่อเนื่อง
และสำหรับคนที่ชอบรับประทานไข่ วันนี้เราก็มีวิธีการเลือกซื้อ การทดสอบและเก็บรักษาที่ถูกต้อง ถูกสุขลักษณะอนามัยมาแลกเปลี่ยนด้วยเช่นกัน
การดูลักษณะไข่ใหม่และไข่เก่า
วิธีทดสอบ
โดยการต่อยไข่ใส่จานหรือที่ราบ ถ้าเป็นไข่ใหม่ไข่แดงจะนูนสูงและไข่ขาวข้นกระจายเป็นวงแคบ ส่วนไข่เก่าไข่แดงจะแบนและไข่ขาวเหลวกระจายเป็นวงกว้าง การแยกไข่แดงและไข่ขาวออกจากกันทำได้ลำบาก วิธีทดสอบอีกวิธีหนึ่งคือ นำไข่ไปหย่อนลงในน้ำที่ใส่ชามลึก ไข่ใหม่จะจมลงตามแนวนอน ส่วนไข่เก่าจะจมตามแนวตั้ง ถ้าเป็นไข่เก่ามาก ๆ จะลอยปริ่มน้ำ
การเก็บรักษาไข่
ควรเช็ดทำความสะอาดไข่ที่เปลือกไข่ที่มีสิ่งสกปรกติดมา จากนั้นหากยังไม่ได้ใช้ทันที ควรเก็บไข่ไว้ในตู้เย็น เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำจากไข่และควรวางไข่ส่วนที่ป้านตั้งขึ้น หากวางส่วนป้านลงน้ำหนักของไข่จะดันโพรงอากาศขึ้นข้างบน ซึ่งทำให้เยื่อหุ้มไข่สองชั้นแยกจากกัน ไข่แดงจะลอยตัวขึ้นข้างบนเป็นเหตุให้ไข่แดงติดเปลือกไข่ง่ายขึ้น การเก็บในตู้เย็นอาจเก็บได้ 1- 2 สัปดาห์ ไม่ควรเก็บไข่ไว้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลาหลายวันเกิน 1 สัปดาห์ เพราะรสชาติและกลิ่นของไข่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้
เพียงเท่านี้ คุณก็จะมีสุขภาพดี ได้กินไข่ที่ปลอดภัยอย่างเอร็ดอร่อยแน่นอน
เอกสารอ้างอิง
-Clayton, Z. S., Fusco, E., & Kern, M. (2017). Egg consumption and heart health: A review. Nutrition, 37, 79-85.
-Alexander DD, Miller PE, Vargas AJ, Weed DL, Cohen SS. Meta-analysis of Egg Consumption and Risk of Coronary Heart Disease and Stroke. J Am Coll Nutr. 2016 Oct 6:1-13.
-สุวิมล ตัณฑ์ศุภศิริ (2551) สารอาหาร อาหารหลัก และการกำหนดรายการอาหาร, สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพฯ