“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

หวานเป็นลม ขมเป็นยา แบบมะระขี้นก

หวานเป็นลม ขมเป็นยา แบบมะระขี้นก

 

        มะระขี้นก หรือชื่อวิทยาศาสตร์ Momordica charantia L. เป็นพืชล้มลุก เป็นเถาเลื้อย เวลาออกลูกจะออกเป็นผลเดี่ยวคล้ายมะละกอลูกเล็ก ผิวขรุขระ มีสีเขียวเข้ม เมื่อผลสุกจะเปลี่ยนจากผลสีเขียวเป็นสีส้ม หรือสีส้มอมเหลือง นิยมปลูกเป็นพืชผักสวนครัว  นำส่วนที่เป็นผลมารับประทาน นำมาปรุงประกอบอาหาร เป็นเครื่องเคียง ใช้ดับกลิ่นคาวเนื้อสัตว์ พืชผักตระกูลมะระนั้นจะมีสารรสขมชื่อสารโมเมอร์ดิซินอยู่แล้ว มีสรรพคุณเด่น คือ ช่วยทำให้เจริญอาหาร สำหรับใครที่มีปัญหาเรื่องเบื่ออาหาร ไม่รู้สึกอยากอาหาร อาจลองพิจารณามะระขี้นกเป็นตัวเลือก

 

         คุณค่าทางโภชนาการในมะระขี้นก จะให้พลังงานค่อนข้างน้อย ต่อ 100 กรัม ให้พลังงานเพียง 19-20 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วยสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต โปรตีน กากใยอาหารอยู่พอควร อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบขับถ่าย มีวิตามินบี 1 บี 2  บี 3 ช่วยการทำงานของสมองและระบบประสาท ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์และมีวิตามินซี ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และที่สำคัญมีวิตามินเอสูงมาก ซึ่งช่วยสนับสนุนกลไกการต้านอนุมูลอิสระในร่างกายได้ดี นอกจากนี้ บางงานวิจัยศึกษาพบว่าการรับประทานมะระขี้นกหรือดื่มน้ำมะระขี้นกนั้น อาจมีส่วนช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวานได้ อย่างไรก็ตาม ต้องอาศัยการศึกษาเชิงลึกและรายละเอียดที่แน่ชัดต่อไป

 

เนื่องจากมะระขี้นกเป็นสมุนไพรที่อยู่คู่คนไทยมาช้านาน จึงมีสรรพคุณทางด้านสมุนไพร ตามตำราแพทย์แผนไทย ตั้งแต่สมัยโบราณ ปรากฎไว้ดังต่อไปนี้

- ดอก  ตากแดดให้แห้งแล้วบดให้เป็นผลชงกับน้ำร้อน ใช้ดื่มเพื่อแก้อาการหอบหืด

- ใบ  ตำให้ละเอียดคั้นเอาแต่น้ำใช้ดื่มเพื่อแก้อาการปากเปื่อย แก้ไข้หวัด ลดอุณหภูมิของร่างกายเนื่องจากพิษไข้

- เมล็ด  นำมาทุบแล้วต้มกับน้ำ ใช้ดื่มเพื่อฆ่าพยาธิ

- ราก  นำมาทุบให้แตกแล้วต้มกับน้ำ รสชาติขมใช้ดื่มเพื่อบรรเทาอาการน้ำตาลในเลือดสูงของผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน

- ผล  ใช้ประกอบเป็นอาหาร ปอกเปลือกหั่นเป็นชิ้นบางๆ กินสดๆ หรือคั้นเอาเฉพาะแต่น้ำ ดื่มเพื่อทำให้เจริญอาหาร บำรุงร่างกาย ช่วยฆ่าพยาธิ แก้อาการปากเปื่อย เป็นยาระบาย ป้องกันอาการท้องผูก

 

แล้วมะระขี้นกทำเมนูอะไรได้บ้าง?

         ส่วนใหญ่ใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริก โดยทำการต้มหรือลวกให้พอนิ่มและให้รสชาติความขมลดลงก่อน หรือใช้ในการปรุงประกอบอาหารทั่วไป เช่น แกงกะทิ แกงเห็ด แกงเลียง มะระขี้นกผัดไข่ เป็นต้น เพื่อให้ได้รสขมที่มีความอร่อยเฉพาะตัวของเมนูอาหารนั้นๆ หรือหากใครไม่อยากรับประทานเป็นอาหาร อาจนำมะระขี้นกมาคั้นเป็นน้ำเพื่อดื่มระหว่างวันก็ได้เช่นกัน

 

 

เอกสารอ้างอิง

- วิมลรัตน์ วรรณพฤกษ์(2551)100สุดยอดสมุนไพรบำรุงสุขภาพ, เพชรประกาย:กรุงเทพฯ

- กรณ์กาญจน์ ภมรประวัติธนะ. (2552). “มะระขี้นก”. นิตยสารหมอชาวบ้าน. เข้าถึงได้จาก http://www.doctor.or.th/node/8931

 1595
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์