ช็อกโกแลตหรือขนมสุดโปรดของใครหลายๆคนที่ทำมาจากโกโก้ มีประวัติศาสตร์มาช้านาน บางตำราก็กล่าวไว้ว่าโกโก้ถูกใช้ในการรักษาภาวะติดเชื้อในทางเดินอาหาร ท้องเสีย ท้องเดิน หอบหืด หลอดลมอักเสบ ส่วนเปลือกที่หุ้มเมล็ดโกโก้ ในสมัยโบราณก็ใช้ในการรักษาโรคตับ กระเพาะปัสสาวะ โรคไต โรคหัวใจ และเบาหวาน นอกจากนี้ ผงโกโก้บริสุทธิ์ 100% จะมีสารต้านอนุมูลอิสระและครีมโกโก้ เนยโกโก้ (Cocoa Butter) ใช้รักษารอยเหี่ยวย่นที่ผิวหนัง และรักษาภาวะท้องลายขณะตั้งครรภ์
ในเมล็ดโกโก้ประกอบด้วยสารหลายตัว เช่น แทนนิน (Tannin) คาเฟอีน (Caffeine) ซึ่งมีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด และยังมีกรดไขมันจำเป็นอยู่หลายชนิดซึ่งมีสรรพคุณดีต่อสุขภาพ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างชนิดของช็อกโกแลต พบว่าช็อกโกแลตดำ (Dark Chocolate) มีสารพฤกษเคมี ชนิดฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ที่เป็นประโยชน์ต่อหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าช็อกโกแลตนม (Milk Chocolate) และช็อกโกแลตขาว (White Chocolate) อีกทั้งยังมีพลังงานต่ำกว่าและน้ำตาลต่ำกว่าด้วย ดังนั้น ถ้าอยากรับประทานช็อกโกแลตเพื่อสุขภาพ แนะนำให้เลือกช็อกโกแลตดำ ซึ่งมีส่วนประกอบของโกโก้ในปริมาณสูงที่สุดจะเหมาะสมที่สุด
จากการศึกษาวิจัยพบว่าถ้ารับประทานช็อกโกแลตดำประมาณ 46 – 105 กรัมต่อวัน หรือ 1 ส่วนบริโภค (จะได้สารโพลีฟีนจากช็อกโกแลตประมาณ 213 – 500 มิลลิกรัมต่อวัน) มีส่วนช่วยในการลดความดันโลหิตได้ และมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้
มากไปกว่านั้น พบว่าการรับประทานช็อกโกแลตจะทำให้สามารถผ่อนคลายความเครียดและอารมณ์ดีขึ้นได้ เนื่องจากมีสารอาหารที่ได้จากช็อกโกแลต ช่วยลดฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งเป็นหนึ่งในฮอร์โมนที่ก่อให้เกิดความเครียด และเพิ่มฮอร์โมนเอ็นโดรฟินและเซโรโทนินแห่งความสุข ทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่สูง เช่น โพลีฟีนอล ช่วยปกป้องเซลล์ร่างกายจากอนุมูลอิสระ ทำให้ลดการเกิดโรคอัลไซเมอร์ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็งได้ด้วย
เอกสารอ้างอิง
Magrone, Thea & Russo, Matteo & Jirillo, Emilio. (2017). Cocoa and Dark Chocolate Polyphenols: From Biology to Clinical Applications. Frontiers in Immunology. 8. . 10.3389/fimmu.2017.00677.
A. Steinhaus, Daniel & Mostofsky, Elizabeth & B. Levitan, Emily & Dorans, Kirsten & Håkansson, Niclas & Wolk, Alicja & Mittleman, Murray. (2016). Chocolate Intake and Incidence of Heart Failure: Findings from the Cohort of Swedish Men. American Heart Journal. 183. . 10.1016/j.ahj.2016.10.002.