จาก “บทความกินอาหารตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตอนที่ 1” กล่าวถึงเป็นการดำเนินชีวิตในทางสายกลางอย่างไร กินอาหารอย่างไร โดยยึดหลัก “ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี” ทั้งสามส่วนนี้จะเกิดประสิทธิภาพต่อร่างกายได้สูงสุดนั้น ต้องมีอีก 2 เงื่อนไข นั่นคือ ความรู้และคุณธรรม
ความรู้ ประกอบด้วยความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรอบด้าน รวมถึงความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้น มาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในการปฏิบัติ
ความรู้ในการกินอาหาร หมายถึง รอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง ในเรื่องอาหารและโภชนาการ
-มีความรู้เรื่องอาหาร 5 หมู่ และแต่ละหมู่ควรกินอย่างไร ปริมาณเท่าใดจึงพอดีเหมาะสม
-รู้ว่ากินอย่างไรจึงไม่เกิดโรคทางโภชนการ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง
-รู้ว่าอาหารอะไรจำเป็น สมควรกิน หรือไม่จำเป็น
-รู้ว่าควรลดหรืองดกินอาหารอะไร ปริมาณเท่าใด
-รู้ว่าอาหารนี้มีคุณค่า ทั้งราคาก็ถูกกว่า อาหารอีกชนิดที่ใช้กินแทนกันได้
-รู้ว่าปรุงอาหารวิธีใด จึงเหมาะสมกับผู้กินรวมทั้งไม่เสียคุณค่าทางโภชนาการ
-รู้วิธีการถนอมอาหาร การประยุกต์ทำเมนูต่างๆ
-รู้ว่าจะต้องเลือกซื้ออาหารปรุงสำเร็จพร้อมบริโภคอย่างไรจึงเกิดประโยชน์ต่อร่างกายสูงสุด
-รู้ว่ามีอาหารชนิดไหนควรปรุงกินเอง อาหารชนิดไหนควรซื้อสำเร็จ แล้วจะทำให้ประหยัดเงิน
คุณธรรมที่จะต้องเสริมสร้าง ประกอบด้วย มีความตระหนักใน คุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
คุณธรรมในการกินอาหาร หมายถึง มีความซื่อสัตย์ สุจริต ขยัน อดทนต่อตนเองในการรับประทานอาหาร
โดยมีสติคิดเสมอว่าเมื่อกินอาหารแล้วอย่าไห้เบียดเบียนตัวเอง
-กินแล้วอย่าทำร้ายตัวเอง คือกินน้อยหรือมากเกินไป ไม่เกิดผลดีต่อร่างกาย
-กินแล้วอย่าทำร้ายตัวเอง คือกินอาหารไม่มีประโยชน์ อาหารไม่ปลอดภัย ไม่เกิดผลดีต่อร่างกาย
-ซื่อสัตย์ต่อตนเองโดยมีวินัยในการกิน เช่น กินอาหารวันละ 3 มื้อ ไม่กินจุบกินจิบ ไม่ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
-กตัญญูและขอบคุณต่ออาหาร ไม่กินทิ้งกินขว้าง แต่ละมือตักตามปริมาณที่จะกินได้จริง เมื่อมีมากให้แบ่งปันต่อคนรอบข้าง
ท้ายสุดนี้ ขอฝากแนวทางการดำเนินชีวิตประจำวันตามเศรษฐกิจพอเพียงโดยทั่วไป ตามแนวพระราชดำริในการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง ซึ่งสามารถนำมาใช้กับบ้านเมืองในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ได้แก่
1.ยึดความประหยัด ตัดทอนค่าใช้จ่ายในทุกด้าน ลดละความฟุ่มเฟือยในการใช้ชีวิต
2.ยึดถือการประกอบอาชีพด้วยความถูกต้อง ซื่อสัตย์สุจริต
3.ละเลิกการแก่งแย่งผลประโยชน์และแข่งขันกันในทางการค้าแบบต่อสู้กันอย่างรุนแรง
4.ไม่หยุดนิ่งที่จะหาทางให้ชีวิตหลุดพ้นจากความทุกข์ยาก ด้วยการขวนขวายใฝ่หาความรู้ให้มีรายได้เพิ่มพูนขึ้น จนถึงขั้นพอเพียงเป็นเป้าหมายสำคัญ
5.ปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี ลดละสิ่งชั่ว ประพฤติตนตามหลักศาสนา
“ปวงข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้
ข้าพระพุทธเจ้ามูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ”
เอกสารอ้างอิง
สง่า ดามาพงษ์ และคณะ (2551) กินให้มีสุข ยุคอาหารแพง, โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก: กรุงเทพฯ
มูลนิธิชัยพัฒนา, จุดเริ่มต้นแนวเศรษฐกิจพอเพียง ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://www.chaipat.or.th/site_content/34-13/3579-2010-10-08-05-24-39.html