วัฒนธรรมการรับประทานอาหารของคนจีนเป็นที่เล่าขานกันมานาน หลายตำรา หลายสำนัก เพราะคนจีนถือว่าเรื่องอาหารการกินเป็นเรื่องใหญ่ และต้องการความพิถีพิถันอย่างมาก ซึ่งไม่ได้คำนึงถึงแค่ความอร่อยเท่านั้น แต่ยังต้องให้คุณค่าทางโภชนาการ บำรุงสุขภาพอนามัยอีกด้วย วัตถุดิบที่มีทั้งความอร่อยและดีต่อสุขภาพที่คนไทยเชื้อสายจีนนิยมรับประทาน ได้แก่
เก๋ากี้ หรือ โกจิเบอร์รี่ มีสารพฤกษเคมีประเภทแคโรทีนอยด์ (Carotenoid) ชนิดซีแซนทิน(Zeaxanthin) จะช่วยบำรุงสายตา ช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของดวงตา ช่วยส่งเสริมการทำงานของจอประสาทตา และการมองเห็นในผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม บางคนยังมีวิธีการปรุงเก๋ากี้พร้อมกับเครื่องปรุงลงไปในอาหารที่กำลังเดือดตุ๋นจนเปื่อย ซึ่งที่อาจจะทำให้สารอาหารบางตัวหายไป ดังนั้นไม่ควรต้มให้เก๋ากี้เปื่อยหรือแตกออก เท่านี้ก็จะได้รับคุณค่ามากที่สุด
เห็ดหอม เป็นแหล่งของโปรตีน วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 และวิตามินดีในปริมาณมาก นิยมรับประทานกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ชาวจีนและญี่ปุ่นเชื่อกันว่าเป็นยาอายุวัฒนะ
เนื่องจากช่วยลดคอเลสเตอรอล ป้องกันไขมันอุดตันในหลอดเลือด ช่วยระบบย่อยอาหารให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง มีสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันช่วยรักษาอาการหอบหืด ช่วยบรรเทาลดความเครียดและช่วยให้หลับง่ายขึ้น
แปะก๊วย เมล็ดสีเหลืองอ่อนกลม รี ปลายแหลม โดยเนื้อด้านในของเมล็ดแปะก๊วย จะประกอบไปด้วยสารอาหารประเภทไขมัน คาร์โบไฮเดรต และโปรตีน มีสรรพคุณทางยาหลายอย่างได้แก่ ช่วยบรรเทาอาการไอ ช่วยลดและขับเสมหะ และเป็นยาบำรุงปอดและระบบทางเดินหายใจได้ดี ช่วยบำรุงสายตา นอกจากนี้เมล็ดและใบแปะก๊วยยังช่วยให้ความจำดีขึ้น บำรุงสมอง บรรเทาอาการอัลไซเมอร์ได้ด้วย
เกาลัด จัดเป็นพืชในตระกูลถั่วเปลือกแข็ง แม้ว่าจะมีไขมันมากแต่จัดเป็นไขมันชนิดไม่อิ่มตัว ซึ่งเป็นไขมันที่ดีต่อสุขภาพ ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้ ซึ่งช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตันจากการสะสมของไขมัน นอกจากนี้ เกาลัดยังอุดมไปด้วยวิตามินอี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ใยอาหาร และแร่ธาตุต่างๆ เช่น แมกนีเซียม ทองแดง ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม เซเลเนียม และโฟเลต ซึ่งจะช่วยในเรื่องระบบการแข็งตัวของเลือด ระบบภูมิคุ้มกัน ความแข็งแรงของเซลล์ผิวหนังและเส้นผม
เอกสารอ้างอิง
1. วีณา นุกูลการ และ ธันย์ชนก ปักษสุข,โกจิเบร์รี่ ผลไม้บำรุงสายตาและชะลอจอประสาทตาเสื่อม ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
2. แปะก๊วยอาหารสมอง ประโยชน์ล้วนๆ จริงหรือ. ศูนย์บริการข้อมูลทางยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ออนไลน์)
3. วิเชียร ตั้งธนานุวัฒน์(2554) มหัศจรรย์สมุนไพรเครื่องยาจีนเพื่อสุขภาพ. กรุงเทพฯ : อนิเมทกรุ๊ป
4. วิทยา บุญวรพัฒน์ (2554) สารานุกรมสมุนไพรไทย-จีนที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่1. กรุงเทพ : สมาคมศาสตร์การแพทย์แผนจีนในประเทศไทย