“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

ใยอาหารเพื่อสุขภาพของหัวใจ

ใยอาหารเพื่อสุขภาพของหัวใจ

 

   ใยอาหารคือส่วนที่เหลือของผนังเซลล์พืชที่เมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว ระบบทางเดินอาหารของมนุษย์เราไม่สามารถย่อยได้ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

 

ใยอาหารชนิดไม่ละลายน้ำ (Insoluble fiber) สามารถพองตัวดูดซับน้ำได้ เมื่อถูกส่งผ่านไปที่ลำไส้ใหญ่จะรวมตัวกับอุจจาระทำให้อุจจาระนิ่มขึ้นและเพิ่มมวลอุจจาระ ขับถ่ายออกได้ง่าย ลดอาการท้องผูกได้ แหล่งที่พบ ได้แก่ ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง รำข้าวสาลี ขนมปังโฮลวีต ถั่วเปลือกแข็งชนิดต่างๆ

 

ใยอาหารชนิดละลายน้ำ (Soluble fiber) สามารถพองตัวดูดซับน้ำได้เช่นกันแต่ละลายน้ำได้ด้วย ทำให้เมื่อรับประทานแล้วจะทำให้รวมกับอาหารในกระเพาะอาหารแล้วเกิดเป็นเจล(ลักษณะหนืด) ทำให้ร่างกายรู้สึกอิ่มเร็วและอิ่มนานขึ้น ส่งผ่านไปที่ลำไส้เล็ก ชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือด ขณะเดียวกันยังช่วยชะลอการดูดซึมไขมันและคอเลสเตอรอลได้ แหล่งที่พบ ได้แก่ ข้าวโอ๊ต พืชตระกูลถั่ว ผักและผลไม้ต่างๆ

 

   ใยอาหารจัดให้เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ควรบริโภคใยอาหารวันละประมาณ 25-30 กรัม และการได้รับที่มากเพียงพอจะลดความเสี่ยงของการ เกิดโรคต่างๆให้น้อยลง เช่น ภาวะน้ำหนักเกินโรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด(Cardiovascular Disease) และโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน(Coronary Heart Disease) เป็นต้น และจากรายงานของ Threapleton DE และคณะ ในปี 2013 ด้วยการศึกษางานวิจัยหลายชิ้นด้วยวิธีวิเคราะห์แบบ Meta-analysis พบความสัมพันธ์ว่า การรับประทานใยอาหารเพิ่มขึ้นทุกๆ 7 กรัมต่อวัน สัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจที่ลดลงได้ถึงร้อยละ 9 และมากไปกว่านั้น ยังมีการศึกษาที่พบว่า การรับประทานข้าวโอ๊ตปริมาณ 3-15 กรัมต่อวัน จะช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือดได้ถึงร้อยละ 5-15 ในคนที่มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงเนื่องจากข้าวโอ๊ตมีใยอาหารชนิดละลายน้ำอยู่มาก

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Anderson JW et al.(2009) Health Benefits of Dietary Fiber, Nutr Rev. Vol.67(4):188-205
  2. Kim Y& Je Y.(2016) Dietary Fibre intake and mortality from cardiovascular disease and all cancers: A meta-analysis of prospective cohort studies, Arch Cardiovasc Dis. Vol.109(1):39-54
  3. Threapleton DE et al.(2013) Dietary fibre intake and risk of cardiovascular disease: systematic review and meta-analysis, BMJ Vol.347:f6879

 

 

 483
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์