“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

จะฉลาดกิน ต้องอ่านฉลากเป็น

จะฉลาดกิน ต้องอ่านฉลากเป็น

คนยุคใหม่ซื้ออาหารขนมและเครื่องดื่มสำเร็จรูปมากขึ้นทุกวัน แต่น้อยคนที่จะสนใจอ่าน "ฉลาก" ที่อยู่ด้านหลังห่อหรือกล่อง  ทั้งๆที่ในนั้นมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากมาย   และใช้เลือกระหว่างของกินแบบเดียวกันแต่ต่างยี่ห้อ ว่าแบบไหนดีต่อสุขภาพและต่อหัวใจของเรามากกว่า

 

ฉลากที่เราเห็นมีข้อมูลละเอียดยิบนั้น เรียกว่า  "ฉลากโภชนาการ"  ซึ่งมีหลายๆคำสำคัญที่เราต้องทำความรู้จัก ...

คำแรก คือ "หน่วยบริโภค"  ซึ่งของกินบางชนิดก็คือทั้งกล่องหรือห่อนั้นเลย  เช่น นมพร้อมดื่ม 1 กล่อง ก็เขียนไว้ที่ฉลากว่า 1 หน่วยบริโภคคือ 1 กล่อง 250 ซีซี. เป็นต้น   แต่ของกินบางชนิดก็แบ่งหนึ่งหน่วยบริโภคย่อยลงไปกว่านั้น เช่นเครื่องดื่มสำหรับชง 1 ขวด  กำหนดว่า 1 หน่วยบริโภคเท่ากับ 3 ช้อนโต๊ะ เป็นต้น  ซึ่งอาหาร ขนม หรือเครื่องดื่มแต่ละชนิดแต่ละขนาดจะแบ่งต่างกันไป

จากนั้นเราก็ดูต่อไปว่า “คุณค่าทางโภชนาการต่อ 1 หน่วยบริโภค” ว่าจะได้พลังงานเท่าใด สารอาหารอะไรบ้าง ในปริมาณเท่าใด  ซึ่งอีกคำที่เราจะเห็นได้บ่อยในข้อมูลสารอาหารแต่ละชนิด คือคำว่า "ร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน"

คำว่า "ปริมาณที่แนะนำต่อวัน" นี้ บ่งบอกอย่างคร่าวๆว่าสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ในหนึ่งวันควรได้รับพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ประมาณนี้หรือไม่เกินที่แนะนำ เช่น พลังงานไม่ควรเกิน 2,000 กิโลแคลอรี น้ำตาลไม่ควรเกิน 65 กรัม ไขมันไม่ควรเกิน 65 กรัม โซเดียมไม่ควรเกิน 2,400 มิลลิกรัม เป็นต้น

ฉะนั้นคำว่า "ร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน" ก็บ่งบอกว่าสิ่งที่เรากำลังจะกินนั้น จะให้สารอาหารหรือพลังงานมากแค่ไหนเมื่อเทียบกับปริมาณที่เราต้องการต่อวัน    เช่นสมมติว่าอาหารกล่องหนึ่งให้พลังงานไปร้อยละ 50 ของที่เราต้องการต่อวันแล้ว  เราก็ไม่ควรกินอาหารนั้นเกินวันละ 2 กล่อง เป็นต้น

 

หลักเบื้องต้นในการตัดสินใจว่าจะซื้อไม่ซื้อ  หรือจะซื้อของยี่ห้อไหน แบบใด  ก็ต้องดูตัวเราเอง หรือคนที่เราจะซื้อให้กิน ว่า...

  • ถ้ากำลังควบคุมน้ำหนัก ควรเลือกที่มีปริมาณพลังงานน้อย
  • ถ้ามีภาวะไขมันในเลือดสูง หรืออ้วน ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณไขมันน้อย
  • ถ้ามีภาวะความดันโลหิตสูง ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณโซเดียมน้อย เป็นต้น
  • ถ้าเป็นโรคเบาหวาน หรือกังวลเรื่องน้ำตาล ควรเลือกที่มีปริมาณน้ำตาลน้อย

… ซึ่งทุกข้อที่กล่าวมา มีความเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงโรคหัวใจด้วยโดยตรง  โดยเฉพาะ 3 ข้อแรก

 

ส่วนการจะใช้ฉลากโภชนาการเปรียบเทียบว่าจะซื้อยี่ห้อไหนดีกว่า หรือแบบไหนดีกว่านั้น  เราจะต้องเทียบระหว่างอาหาร ขนม หรือเครื่องดื่มชนิดเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ที่มีน้ำหนักเท่ากัน หรือความจุเท่ากัน   แล้วอ่านที่ปริมาณสารอาหารทั้งแบบละเอียด และแบบ "ร้อยละของที่แนะนำต่อวัน" ด้วยก็ได้

อาหาร ขนม หรือเครื่องดื่มบางชนิด แม้จะความจุไม่เท่ากัน  แต่ก็กำหนด "1 หน่วยบริโภค" ไว้เท่ากัน  เช่น 50 กรัมก็มี   ถ้าพบเจอแบบนี้ก็เปรียบเทียบสารอาหารกันได้

 

เพิ่มเติมอีกเรื่องที่ควรรู้คือ "ฉลากโภชนาการ" นี้ มีการแสดงข้อมูลชนิดและปริมาณสารอาหารของอาหาร   ซึ่งเราจะเจอได้ 3 รูปแบบคือ "แบบเต็ม"  "แบบย่อ" และ "แบบหวานมันเค็ม"

 

  • "ฉลากโภชนาการแบบเต็ม" จะแสดงชนิดและปริมาณสารอาหารที่สำคัญ 15 รายการ ตามที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้
     
  • "ฉลากโภชนาการแบบย่อ" เนื่องจากของกินบางชนิดก็มีสารอาหารแค่ไม่กี่อย่าง ซึ่งถ้าไม่เกิน 8 อย่าง ก็ให้แสงแบบย่อได้
     
  • "ฉลากหวานมันเค็ม" หรือแบบจีดีเอ (Guidline Daily Amounts : GDA) แสดงปริมาณสารอาหาร 3 ชนิดหลักที่มักก่อโรคหัวใจและโรคต่างๆ คือ พลังงาน(กิโลแคลอรี) น้ำตาล(กรัม) ไขมัน(กรัม)  และโซเดียม(มิลลิกรัม) ต่อหนึ่งหน่วยบรรจุภัณฑ์ (ถุง ซอง กล่อง) โดยจะแสดงฉลากด้านหน้าบรรจุภัณฑ์

    ฉลากแบบ GDA นี้ถูกบังคับแสดงในกลุ่มอาหาร 5 กลุ่ม คือ กลุ่มอาหารขนมขบเคี้ยว กลุ่มช็อกโกแลต กลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมอบ กลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป และกลุ่มอาหารมื้อหลักแช่เย็นแช่แข็ง

 

ทั้งหมดนี้อาจจะดูเหมือนเข้าใจยาก  แต่ถ้าใครลองอ่านดูสักสองสามครั้งก็จะเข้าใจ และรู้สึกสนุกไปกับการสังเกตและเปรียบเทียบระหว่างอาหาร ขนม และเครื่องดื่มต่างๆ  และสุดท้ายก็เลือกสิ่งที่ “ดีต่อหัวใจ” ให้กับตัวเราเองและคนที่เรารักได้ดีกว่าเดิม

 

 

แหล่งข้อมูล

หนังสือ “ฉันอย่างไร หัวใจแข็งแรง” โดยมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

 

 957
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์