"อย่ากินเค็มให้มากนะ!" ถ้าใครเคยถูกเตือนแบบนี้ ก็อย่าเพิ่งไม่พอใจ เพราะคนที่เตือนคุณเขาหวังดีกับคุณต่างหาก
ความเค็มเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไม่ใช่เฉพาะกับไตเท่านั้นแต่รวมไปถึงหัวใจด้วย ว่าแต่มันเป็นอันตรายต่อหัวใจยังไงล่ะ
ก่อนจะตอบคำถาม เราต้องเข้าใจก่อนว่าในบรรดาเครื่องปรุงรสเค็มทั้งหลาย เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ผงชูรส กะปิ ผงปรุงรส น้ำมันหอย เครื่องพริกแกง ฯลฯ มีสารตัวหนึ่งเป็นส่วนประกอบหลักเหมือนกันอยู่ นั่นคือ "โซเดียม"
เมื่อเรากินอาหารเค็มมากเกินไป เลือดจะมีความเข้มข้นของโซเดียมมาก ร่างกายจึงต้องลดความเข้มข้นลงโดยดึงน้ำเข้ามาในหลอดเลือดมากขึ้น ส่งผลให้หัวใจต้องสูบฉีดเลือดอย่างหนัก เพิ่มความเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง ตามมาด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
แต่ไม่ใช่ว่าจะเลิกกินโซเดียมเลยนะ เพราะจริงๆ แล้วโซเดียมก็เป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ ปกติเราต้องการโซเดียมวันละ 2,000 มิลลิกรัม ถ้าเทียบเป็นเกลือก็แค่ 3 ใน 4 ช้อนชาเท่านั้น แต่สำนักโภชนาการ กรมอนามัยเคยสำรวจพบว่าคนไทยกินโซเดียมเฉลี่ยถึงวันละ 4,352 มิลลิกรัม หรือเกลือประมาณ 2.5 ช้อนชาต่อคนต่อวัน คิดเป็นเกือบ 3 เท่าของที่ร่างกายต้องการ ช่างน่ากลัวจริงๆ
แม้จะยังไม่ผ่านการปรุงรส แต่อาหารส่วนใหญ่ก็มีโซเดียมอยู่แล้ว เช่น นม 1 แก้วมีโซเดียม 120 มิลลิกรัม ไข่ 1 ฟองมีโซเดียม 90 มิลลิกรัม แม้แต่ข้าวเปล่าจืดๆ 1 ทัพพี ยังมีโซเดียมถึง 20 มิลลิกรัมเลย เพราะฉะนั้นไม่ต้องปรุงรสให้เค็มมากก็ได้
รู้แบบนี้แล้วละก็ ต้องระวังเรื่องรสเค็มในแต่ละมื้ออาหาร เพราะถ้าปรุงเกิน เพลินเหยาะ(น้ำปลา) ก็อาจจะติดรสเค็ม จนต้องเพิ่มความเค็มไปเรื่อยๆ ...ยิ่งอายุมากขึ้นก็จะยิ่งเพิ่มความเค็มขึ้นอีก เพราะประสาทลิ้นเริ่มเสื่อมลงตามวัย เป็นผลร้ายต่อหัวใจของเรา