“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

9 เทคนิค กินบุฟเฟต์อย่างไร ไม่ทำร้ายตัวเอง

9 เทคนิค กินบุฟเฟต์อย่างไร ไม่ทำร้ายตัวเอง

เวลากินบุฟเฟต์ หลายคนกินเหมือนกับว่าต้องเอาชนะร้านบุฟเฟต์ให้ได้เพราะ“กลัวไม่คุ้ม” การกินบุฟเฟต์สำหรับหลายคนจึงกลายเป็นการกินมากเกินความต้องการ ถือเป็นการทำร้ายสุขภาพและบั่นทอนอายุขัยตัวเองโดยไม่รู้ตัว

            แทนที่จะมองแต่ “คุ้ม” หรือ “ไม่คุ้ม” เรามาดูวิธีกินบุฟเฟต์อย่างปลอดภัย ไม่ทำร้ายตัวเองกันดีกว่า

1. เลือกชนิดของบุฟเฟต์

งดบุฟเฟต์ที่เน้นเนื้อสัตว์เป็นหลัก เช่น ชาบู หมูกระทะ เพราะการกินเนื้อสัตว์มากเกินไป จะเพิ่มความเสี่ยงโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด นอกจากนี้ควรงดบุฟเฟต์ที่เป็นของหวานล้วนๆ เช่น เค้ก ไอศกรีม  นอกจากน้ำตาลจะสูงแล้วไขมันยังสูงอีกด้วย

2. เลือกกินมื้อเช้าหรือมื้อกลางวัน

            การกินบุฟเฟต์ควรเลือกเป็นมื้อเช้าหรือมื้อกลางวัน เพราะทั้งวันเรายังมีกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายอีกนาน จึงช่วยเผาผลาญพลังงานได้มาก  แต่ถ้าเป็นมื้อเย็นอาหารบุฟเฟต์จะกลายเป็นไขมันส่วนเกินสะสมในร่างกายจนเป็นโรคอ้วนและโรคหัวใจ

3. ตักครั้งละน้อยๆ แต่หลายครั้ง

แม้ว่าจะหิวแค่ไหน การตัก (หรือสั่ง) ควรทำครั้งละน้อยๆ หมดแล้วค่อยเดินกลับไปตักอีกครั้งก็ได้ เพราะถ้าเราตักอย่างใดอย่างหนึ่งมาเยอะในครั้งเดียวพราะความหิว อาจทำให้อิ่มเกินไปและตัดโอกาสในการลองกินอย่างอื่นด้วย

4. เน้นตักโปรตีนไขมันต่ำ และผักผลไม้

            พยายามเน้นเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ เช่น ปลา เลี่ยงเนื้อสัตว์ที่มีมันมากเช่นเบคอน  และลดคาร์โบไฮเดรตประเภทข้าวขาวและขนมปังขาว  เลือกผักผลไม้ ข้าวกล้อง หรือขนมปังโฮลวีตที่ผสมธัญพืชมากๆ จะช่วยลดแคลอรีส่วนเกินในมื้อนั้นลงได้ และยังดีต่อสุขภาพด้วย

5. อย่ามองข้ามไขมันแฝง

            แม้จะเลือกตักสลัดแล้ว ก็ใช่ว่าจะดีต่อสุขภาพและหัวใจเสมอไป  เพราะถ้าเป็นสลัดที่ท่วมไปด้วยน้ำสลัดข้น อุดมไปด้วยส่วนผสมจากน้ำมันและไข่แดงก็ควรหลีกเลี่ยง เพราะเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนและโรคหัวใจได้เช่นกัน 

6. อย่ารีบเร่งกิน เพราะกลัวหมดเวลา

            บุฟเฟต์ส่วนใหญ่จะจำกัดเวลาระหว่าง 1-2 ชั่วโมง  ทำให้บางคนรีบกินเกินไป จนส่งผลเสียต่อระบบย่อยอาหาร ก่อโรคอ้วน โรคหัวใจ และโรคระบบทางเดินอาหารตามมา

7. เลี่ยงน้ำอัดลมและน้ำหวาน

เครื่องดื่มที่มาพร้อมกับบุฟเฟต์คงหนีไม่พ้นน้ำอัดลมหรือน้ำหวานแบบเติมไม่อั้น เช่น ชามะนาว ชาเขียวรสหวานจัด ฯลฯ หลายคนกลัวไม่คุ้ม เลยเติมแล้วเติมอีกจนน้ำตาลเกินระดับที่ร่างกายต้องการต่อวัน เพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวานและโรคหัวใจเข้าไปอีก

8.  อย่าจัดถี่! กินบุฟเฟต์แค่เดือนละครั้งก็พอ

            ถ้าใครนัดสังสรรค์กันถี่กว่าเดือนละครั้ง ก็เปลี่ยนจากบุฟเฟต์ไปเป็นมื้ออาหารปกติที่ไม่ใช่บุฟเฟต์บ้าง แต่มื้ออาหารนั้นๆ ก็ต้องมีประโยชน์ต่อร่างกายนะ

9. หยุดเมื่ออิ่ม  ไม่ใช่หยุดเมื่อ “ไม่ไหวแล้ว” !

            อย่าห่วงเรื่องคุ้มหรือไม่คุ้มมากจนเกินไป  เพราะโรคหัวใจและโรคเบาหวานจากการกระหน่ำกินบุฟเฟต์นั้นไม่คุ้มแน่นอน ดังนั้นควรหยุดกินเมื่ออิ่ม ไม่ใช่หยุดกินเมื่อรู้สึกว่าแน่นจนกินไม่ไหวแล้วอย่างที่หลายคนทำกัน

อย่าลืมว่าถึงเราจะสวาปามบุฟเฟต์อย่าง “คุ้มค่า” แต่เราก็อาจจะต้องเสียค่ารักษาพยาบาลอาการเจ็บป่วย ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ โรคอ้วน และโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือดเนื่องจากการกินบุฟเฟต์เป็นเงินก้อนโต คิดดูแล้วมันคงไม่ “คุ้มค่า” กับเราเท่าไรนัก

 4898
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์